กรมชลประทานระดมทุกภาคส่วนจัดเวทีแสดงความคิดเห็นเดินหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์และช่องแค จังหวัดชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี อุทัยธานี หวังเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ แก้ปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลากและขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตร มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดี กินดี มีน้ำใช้เพียงพอ
นายวิทยา ชพานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท เป็นประธานเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์และช่องแค จังหวัดชัยนาท จังหวัดนครสวรรรค์ จังหวัดลพบุรี และจังหวัดอุทัยธานี โดยนายพีระพงษ์ เอี่ยมไผ่ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ กล่าวรายงาน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และกลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ ประชาชนในพื้นที่ศึกษา รวมถึงสื่อมวลชน ณ โรงแรมเจ้าพระยาธารา ริเวอร์ไซต์ ชัยนาท อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท
สำหรับความเป็นมาของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์นั้น เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2495 และสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2505 เป็นโครงการย่อยของโครงการเจ้าพระยาใหญ่ตอนบนจากจำนวน 16 โครงการ มีหัวงานที่เป็น ปตร.ปากคลองส่งน้ำจำนวน 1 แห่ง รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาพระ ตั้งอยู่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาทางฝั่งซ้าย โดยมีระยะทางตามแนวแม่น้ำไปทางเหนือน้ำประมาณ 30 กิโลมตร ปัจจุบันคลองส่งน้ำในโครงการมีประสิทธิภาพการใช้งานของระบบชลประทานลดลง บางแห่งชำรุดเสียหาย ในช่วงที่ผ่านมาโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารชลประทานต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพที่ดีให้ใช้การได้บางส่วน แต่ยังไม่สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพให้ได้ดังเดิมหรือเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้นได้ทั้งระบบ ซึ่งในปี พ.ศ.2566-2567 กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 10 ได้มีการศึกษาปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ เพื่อให้มีการปรับปรุงระบบชลประทานทั้งระบบ ขณะนี้ได้ดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าวในขั้นสุดท้าย จึงได้จัดให้มีการประชุมในวันนี้ขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ ตลอดจนข้อเสนอแนะเพิ่มติม และจะได้นำไปปรับปรุงผลการศึกษาให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป
รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า การประชุมปัจฉิมนิเทศ เวทีที่ 1 โครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์และช่องแค จังหวัดชัยนาท จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดลพบุรี และจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งกรมชลประทานจัดขึ้นในวันนี้ นับเป็นโอกาสอันดีสำหรับทุกภาคส่วนที่ได้มาร่วมรับทราบข้อมูลสรุปภาพรวมของโครงการ แนวทางการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์และช่องแค รวมถึงผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทุกภาคส่วนเกิดความเข้าใจ และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่าง ๆ หากการพัฒนาโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูแล้งเป็น 64,437 ไร่ ส่งผลให้มีรายได้ด้านเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 143.43 ล้านบาท/ปี หรือคิดเป็น 352 บาท/ไร่ อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอุทภัยในพื้นที่โครงการ 330.314 ไร่ สามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 32,681 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 9.89 ขอให้ทุกท่านได้ใช้เวทีนี้ในการแสดงความคิดเห็น ร่วมคิด อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนต่อไป ซึ่งในอนาคตอยากจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจแทนการปลูกข้าว เช่น ทุเรียน เนื่องจากตลาดมีความต้องการสูง รวมทั้งปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่งด้วย
ด้านนายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์-ช่องแค ประกอบด้วย จุดที่ 1 แปลงข้าวเมล็ดพันธุ์ ตำบลสนามแจง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี จุดที่ 2 ทรบ.ปากคลอง 9 ขวา ตำบลพรหมนิมิต อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์จุดที่ 3 โครงการสูบน้ำเขาแก้ว ตำบลพยุหะ อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ จุดที่ 4 สถานีสูบน้ำบ้านเหล็ก ตำบลท่าน้ำอ้อย อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า โครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์และช่องแค จังหวัดชัยนาท จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดลพบุรี และจังหวัดอุทัยธานี เป็นโครงการย่อยของโครงการเจ้าพระยาใหญ่ตอนบนจาก 16 โครงการ มีอายุการใช้งานมาแล้วมากกว่า 60 ปี ปัญหาปัจจุบันระบบชลประทานของโครงการมีประสิทธิภาพลดลง ไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะการณ์ อีกทั้งคลองส่งน้ำฯ และอาคารประกอบใช้งานมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้อาคารชำรุดเสียหาย รวมถึงอาคารควบคุมมีสภาพชำรุดทรุดโทรม และคลองส่งน้ำบางสายยังเป็นคลองดิน คลองระบายน้ำมีสภาพตื้นเขิน ขนาดคลองแคบลง ปัญหาการบุกรุกเขตคลองระบายน้ำ คันคลองระบายน้ำบางช่วงต่ำ ท่อรับน้ำจากปากคลองมีระดับสูงกว่าระดับน้ำในคลองชัยนาท-ป่าสัก เกิดปัญหาในช่วงฤดูแล้งถึงต้นฤดูฝน เกษตรกรต้องใช้เครื่องสูบน้ำเข้าคลองเอง เนื่องจากระดับน้ำต่ำ ทำให้น้ำไม่เข้า ทรบ.ปากคลอง ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตร และงบประมาณที่ใช้ในการปรับปรุงซ่อมแซมโครงการฯ มีอยู่อย่างจำกัด แม้ว่าจะมีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งระบบได้ ซึ่งกรมชลประทานได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยดำเนินการปรับปรุงระบบชลประทานให้มีความสอดคล้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองชัยนาท-ป่าสักให้มีความเหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงต้องมีการจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์และช่องแค จังหวัดชัยนาท จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดลพบุรี และจังหวัดอุทัยธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์และช่องแคที่เชื่อมโยงกับระบบลำน้ำของโครงการข้างเคียงและลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีความสมดุลระหว่างการใช้น้ำ การระบายน้ำ และการรักษาคุณภาพน้ำ ซึ่งการกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาและการปรับปรุงระบบชลประทาน ระบบระบายน้ำ รวมถึงระบบลำน้ำที่มีอยู่เดิม การก่อสร้างอาคารกักเก็บน้ำในคลองระบายเพิ่มเติม การก่อสร้างสถานีสูบน้ำปลายคลองระบายน้ำลงคลองชัยนาท-ป่าสัก จะส่งผลดีต่อภาพรวมของโครงการฯ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำ การสูบน้ำ บรรเทาปัญหาอุทกภัยและเก็บกักน้ำเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงการนำพลังงานทดแทนมาใช้ โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 540 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2566 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567
สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์มีแผนปรับปรุงคลองส่งน้ำและอาคารประกอบ 33 สาย ความยาว 215 กิโลเมตร และปรับปรุงระบบคลองระบายน้ำและอาคารประกอบ 24 สาย ความยาว 221 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการปรับปรุง 1,333.52 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าลุงทุนการปรับปรุงระบบส่งน้ำ 860.74 ล้านบาท, ค่าลุงทุนการปรับปรุงระบบระบายน้ำ 369.99 ล้านบาท, ค่าลงทุนด้านเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรผู้ใช้น้ำ 4.45 ล้านบาท และค่าลงทุนด้านอาคารสถานที่/ครุภัณฑ์/บุคลากร 98.34 ล้านบาท ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวเสร็จสิ้นจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพชลประทานในพื้นที่โครงการ 281,805 ไร่ เพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูแล้ง 64,437 ไร่ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 352 บาท/ไร่ คิดเป็นมูลค่า 143.43 ล้านบาท/ปี ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่โครงการ จำนวน 330,314 ไร่ และสามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 32,681 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 9.89
ส่วนโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาช่องแคมีแผนงานปรับปรุงคลองส่งน้ำและอาคารประกอบ 26 สาย ความยาว 194 กิโลเมตร และปรับปรุงระบบคลองระบายน้ำและอาคารประกอบ 19 สาย ความยาว 237 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการปรับปรุง 1,313.90 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าลุงทุนการปรับปรุงระบบส่งน้ำ 808.85 ล้านบาท, ค่าลุงทุนการปรับปรุงระบบระบายน้ำ 425.75 ล้านบาท, ค่าลงทุนด้านเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรผู้ใช้น้ำ 3.97 ล้านบาท และค่าลงทุนด้านอาคารสถานที่/ครุภัณฑ์/บุคลากร 75.33 ล้านบาท ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวเสร็จสิ้น จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพชลประทานในพื้นที่โครงการ 245,320 ไร่ เพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูแล้ง 52,612 ไร่ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 276 บาท/ไร่ คิดเป็นมูลค่า 111.53 ล้านบาท/ปี ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่โครงการ จำนวน 280,770 ไร่ และสามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 28,438 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 10.13 นอกจากนี้ยังส่งผลให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยนาท นครสวรรค์ และลพบุรี สิงห์บุรี และพื้นที่ใกล้เคียงได้รับประโยชน์จากโครงการฯ มีน้ำกิน น้ำใช้ เพื่อการอุปโภค บริโภคและทำการเกษตรอย่างเพียงพอ พืชผลทางการเกษตรได้ผลผลิตดี มีรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
อีเมล์ : water4life2017@gmail.com
โทรศัพท์ : 09 8269 1197 08 6888 1918
ที่อยู่ : 299/3 หมู่บ้านเบล็ส วิลล์ รามอินทรา ซอยพระยาสุเรนทร์ 25 แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ 10510
©2024 Copyright, Thaiagritec. All rights reserved.