menu
chevron_right
น้ำคือชีวิต
กรมชลประทาน หาแนวทางสร้างความมั่นคงแหล่งน้ำต้นทุนบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล

103806


นางดรรชณี เฉยเพ็ชร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน ได้จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร “โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 (ระบบส่งน้ำ)” ได้สรุปรายละเอียดและภาพรวมการศึกษาโครงการ และรับฟังข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะจากสื่อมวลชน ณ ห้องประชุมลำน้ำชี สำนักงานชลประทานที่ 6 อีกทั้งยังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับแนวคิดในการพัฒนาโครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาโครงการ ซึ่งการพัฒนาโครงการมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยการพิจารณาการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนพร้อมระบบส่งน้ำในพื้นที่ เพื่อบรรเทาการขาดแคลนน้ำทางด้านการเกษตร และด้านอุปโภค-บริโภค

830711
นางดรรชณี กล่าวว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ 103.5 ล้านไร่ หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศ ประกอบด้วย 20 จังหวัด มีลุ่มน้ำหลักที่สำคัญ 3 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล มีพื้นที่การเกษตร 63.85 ล้านไร่ พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ยังอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก แหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนมีน้อย เนื่องจากพื้นที่เป็นที่ราบสูงและมีลักษณะแบนราบ การนำน้ำมาใช้ส่วนใหญ่ต้องใช้การสูบน้ำจากแม่น้ำลำคลองเป็นหลัก
“พื้นที่ศึกษาโครงการครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดขอนแก่น จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดนครราชสีมา รวม 30 อำเภอ 179 ตำบล ขั้นตอนการศึกษาได้ดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบคลองส่งน้ำที่เหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับพื้นที่ โดยคลองส่งน้ำแยก เป็นคลองส่งน้ำสายหลัก คลองส่งน้ำสายซอย และคลองส่งน้ำสายแยกซอยและได้พิจารณาคัดเลือกรูปแบบคลองที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับพื้นที่” 
นางดรรชณี กล่าวว่า การศึกษารูปแบบของระบบชลประทานที่เหมาะสมครั้งนี้ ดำเนินการ โดยกรมชลประทานจากหัวงานแนวผันน้ำช่วงที่เป็นคลองลำเลียงน้ำซึ่งเป็นคลองเปิด ผ่านบริเวณอำเภอสุวรรณคูหา อำเภอเมืองหนองบัวลำภู และอำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู สามารถสูบน้ำจากคลองลำเลียงน้ำส่งให้พื้นที่ข้างคลอง ที่เป็นพื้นที่สูงและเป็นพื้นที่แล้งซ้ำซาก โดยเป้าหมายของการพัฒนาพื้นที่ระบบส่งน้ำโครงการฯ โขง เลย ชี มูล ระยะที่ 1 จะเป็นพื้นที่ที่แนวคลองตัดผ่านและใกล้เคียง โดยเป็นการศึกษาทบทวนรูปแบบของระบบชลประทานที่เหมาะสม ครอบคลุมพื้นที่ชลประทานประมาณ 1.73 ล้านไร่ 

830712
นายจิรศักดิ์ มงคลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย สำนักชลประทานที่6 กล่าวว่า เมื่อโครงการดำเนินการตามแผนจะสามารถกระจายน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ศักยภาพเกษตรชลประทานได้มากที่สุด ค่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ปากแม่น้ำเลยอยู่ระหว่าง +197.00 ถึง +212.00 ม.รทก. อุโมงค์ผันน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร สามารถผันน้ำโขงได้สูงสุดประมาณ 160 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นปริมาณน้ำผันประมาณ 1,900 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อปี สามารถกระจายน้ำครอบคลุมพื้นที่ชลประทานในฤดูฝน 1.73 ล้านไร่ พื้นที่ชลประทานในฤดูแล้ง 0.864 ล้านไร่ เติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ 388 ล้านลูกบาศก์เมตร เติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว 101 ล้านลูกบาศก์เมตร 
นายสวน พันเดช หัวหน้ากลุ่มผู้ใช้น้ำโซน5 สำนักงานชลประทานที่6 จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านประสบปัญหาภัยแล้งอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงฤดูน้ำหลากน้ำก็จะท่วม ทำให้ผลผลิตอย่างนาข้าว พืชผักสวนครัวได้รับความเสียหาย หากมีโครงการอุโมงค์ผันน้ำเข้ามา ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ที่จะช่วยให้ชาวบ้านสามารถจัดการการใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ว่าจะต้องรอคอยอีกหลายปี แต่อย่างน้อยจะทำให้ลูกหลานที่กำลังเติบโตขึ้นสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้อย่างเต็มที่

103834
เช่นเดียวกับ นายทองลี แซงภูเขียว อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่5 ต.โนนท่อน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ตัวแทนชาวบ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการอุโมงค์ผันน้ำ บอกว่าเกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลักคือการทำนา โดยทำทั้งนาปี นาปรัง รวมทั้งมีการปลูกผักสวนครัว การนำน้ำมาทำประปาหมู่บ้าน โดยอาศัยน้ำจากคลองชลประทานเป็นหลัก จะประสบปัญหาในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากการขาดน้ำ หากมีโครงการ ผันน้ำโขง ชี มูล เข้ามา จะช่วยทำให้ชาวบ้านสามารถทำอาชีพเกษตรได้อย่างเต็มที่ เพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในขณะนี้ชาวบ้านก็รู้สึกดีใจที่จะมีโครงการอุโมงค์ผันน้ำเข้ามา ต้องขอบคุณกรมชลประทานที่มองเห็นความสำคัญของน้ำที่มีประโยชน์ต่อประชาชนที่จะสร้างงาน สร้างอาชีพให้มีความมั่นคงได้เป็นอย่างดี และอยากให้โครงการอุโมงค์ผันน้ำเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในเร็ววัน

830710

ติดต่อเรา

อีเมล์ : water4life2017@gmail.com

โทรศัพท์ : 09 8269 1197 08 6888 1918

ที่อยู่ : 299/3  หมู่บ้านเบล็ส วิลล์ รามอินทรา ซอยพระยาสุเรนทร์ 25 แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ 10510

©2024 Copyright, Thaiagritec. All rights reserved.