menu
chevron_right
เด่น โดน ดัง
น้ำท่วมเมืองเพชรบุรี เจอปัญหาหมู(เขี้ยวตัน)

แม่น้ำเพชรบุรี ความยาวกว่า 400 กิโลเมตรไหลผ่าน อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง สุดทางลงทะเลที่ อ.บ้านแหลม เป็นแม่น้ำสำคัญไม่กี่สายในประเทศที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเดียวกัน
               ในอดีต ถึงฤดูน้ำหลากจะล้นตลิ่งไปนองอยู่ตามท้องไร่ท้องนา แต่เมื่อชุมชนขยายตัวกีดขวางทางน้ำ จึงเริ่มเกิดอาการน้ำท่วมขังหนักข้อเรื่อยมา จนองค์การบริหารท้องถิ่น ไม่ว่าอบต. เทศบาล กระทั่งกรมโยธาธิการและผังเมือง เข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยการก่อสร้างพนังกั้นน้ำไม่ได้ก่อสร้างครั้งเดียวจบ เพราะแก้ปัญหาจุดหนึ่ง น้ำก็ทะลักหักล้นไปท่วมอีกจุดหนึ่ง แต่เมิ่อพนังกั้นน้ำสร้างต่อเนื่องเรื่อยๆจนในที่สุดจุดเสี่ยงก็น้อยลง ทั้งในเขตอ.ท่ายางและอ.บ้านลาด น้ำก้อนมหึมาจึงไหลไปท่วมอ.เมืองเพชรบุรีแทน 
               เมืองเพชรบุรี มีข้อจำกัด 2 สถาน หนึ่ง ไม่ได้เตรียมการสร้างพนังกั้นน้ำอย่างจริงจังเท่าสองอำเภอข้างต้น เพราะน้ำไม่ท่วม สอง ขีดความสามารถในการระบายน้ำของเมืองต่ำคือ 150 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ในขณะน้ำไหลหลากลงมา 400-800 ลบ.ม./วินาที ส่วนเกินจึงท่วมเมืองพริบพรีประหนึ่งน้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว
               ต้องจำลองภาพให้เห็นก่อน แม่น้ำเพชรบุรีที่มาจากเทือกเขาสูงติดแดนพม่านั้น ผ่านอ.แก่งกระจาน มีเขื่อนแก่งกระจาน ความจุ 710 ล้านลบ.ม.รองรับอยู่ ท้ายเขื่อนแก่งกระจานยังมีห้วยผากเป็นลำน้ำสาขาไหลมาบรรจบ ก็มีเขื่อนห้วยผากความจุ 27.5 ล้านลบ.ม.จนใกล้ๆเขื่อนเพชรบุรีซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำจะมีลำน้ำสาขาอีกเส้นหนึ่งมาบรรจบแม่น้ำเพชรบุรีคือห้วยประจันต์ มีอ่างเก็บน้ำห้วยประจันต์ความจุ 42 ล้านลบ.ม.เช่นกัน 
ทั้ง 3 เขื่อนส่งน้ำมาให้เขื่อนเพชรบุรี เพื่อทดน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตร คล้ายเขื่อนเจ้าพระยารับน้ำจากเขื่อนภูมิพล ท้ายเขื่อนเพชรบุรี เป็น อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมืองและ อ.บ้านแหลมตามลำดับ
               นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า แนวทางที่กรมฯวางแผนก้ไขน้ำท่วมอ.เมืองเพชรบุรี คือก่อสร้างขยายคลองระบายน้ำ คลองD1และคลองD 9 เหนือเขื่อนเพชรบุรี ซึ่งระบายน้ำได้ 100 ลบ.ม./วินาทีและ 550 ลบ.ม./วินาที เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเลโดยตรง เมื่อรวมกับขีดความสามารถระบายน้ำในเขตอ.เมือเงพชรบุรี 150 ลบ.ม./วินาทีก็จะเท่ากับ 800 ลบ.ม./วินาที เท่ากับสถิติสูงสุดในรอบ 30 ปีพอดี นั่นเป็นแผนของกรมชลประทาน แต่การขยายคลอง D1 ยังอยู่ระหว่างเจรจาขอซื้อที่ดิน ในขณะคลองD 9 ทำได้เลยและอยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่า 1-2 ปีจะแล้วเสร็จช่วยจัดยอดน้ำเข้าเมืองได้ 100 ลบ.ม./วินาที รวมกับเมืองที่ระบายได้ 150 ลบ.ม.อยู่แล้ว ทำให้ช่วยระบายได้รวม 250 ลบ.ม./วินาที ซึ่งยังห่างไกลกับปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงมาเฉลี่ย 400-500 ลบ./วินาที
                กรมชลประทานมีทางเลือกไม่มากนัก หนึ่ง-เดินหน้าขยายคลอง D1 ให้สำเร็จ ทุกอย่างจะคลายปัญหาได้ง่าย แต่ถ้าไม่สำเร็จก็มีอีกแผน คือสอง-ขยายคลอง D18 อัตราการระบาย 150 ลบ.ม./วินาที เป็นอย่างนั้น จะมีอัตราการระบายรวม 400 ลบ.ม./วินาทีใกล้เคียงกับอัตราน้ำเฉลี่ยที่ไหลเข้าเมืองเพชรบุรี เรียกว่าพอกล้อมแกล้มแก้ปัญหาได้ ซึ่งอาจใช้วิธิการอื่นๆเสริมเข้าไปด้วย
                นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหาระยะสั้นในฤดูน้ำหลากที่จะมาถึง คงต้องบริหารจัดการน้ำบริเวณต้นน้ำคืออ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน ห้วยผากและแม่ประจันต์อย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อลดผลกระทบท้ายน้ำ ขณะเดียวกันก็ต้องเก็บกักน้ำไว้ใช้ฤดูแล้งด้วย 
               บริเวณกลางน้ำ ต้องอาศัยคลองส่งน้ำ 4 สาย แปรสภาพเป็นคลองระบายน้ำ โดยเพิ่มขีดความสามารถจาก 50 ลบ.ม./วินาทีเป็น 100 ลบ.ม./วินาที และดำเนินการขยายคลองระบายน้ำทั้ง คลองD1 คลองD9 รวมถึง คลอง D18 อีกแนวทางหนึ่งที่ยังเป็นแค่ความคิด คือแก้มลิง แม้จะตัดยอดน้ำได้ไม่มากนัก แต่ในแง่ประโยชน์กน่าสนใจ 
               “ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ตั้งแต่เขตอ.ท่ายาง อ.บ้านลาด เดิมทีเป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากโดยธรรมชาติอยู่แล้ว อาจจะลองหารือถึงแนวทางการทำแก้มลิง โดยเปิดให้น้ำเข้าไปเก็บไว้ชั่วคราว แล้วเลี้ยงปลาและใช้น้ำทำนาปรังหรือพืชฤดูแล้ง ซึงเท่ากับเพิ่มโอกาส เพิ่มรายได้ ให้เกษตรกร เหมือนแก้มลิงทุ่งบางระกำและเจ้าพระยาที่นำร่องประสบความสำเร็จมาแล้ว” นายเฉลิมเกียรติกล่าว 
               ที่กรมชลประทานไม่เอ่ยถึงคือการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่บริเวณต้นน้ำลุ่มน้ำแม่ประจันต์ ซึ่งมีเขื่อนแม่ประจันต์ตัวเดียว ความจุเพียง 42 ล้านลบ.ม.เท่านั้นจากน้ำท่ารายปี 74 ล้านลบ.ม. ทำให้มีน้ำเหลือไหลลงท่วมเมืองเพชรบุรี ส่วนหนึ่ง กรมชลประทานเองยังไม่มีผลการศึกษาโครงการ อีกทั้งยังเห็นปัญหามีหมู่บ้านอยู่ในพื้นที่ถึง 3 หมู่บ้านหรือไม่ก็ก็เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งล้วนยุ่งยากในการจัดการ น่าจะเป็นทางเลือกท้ายๆมากกว่า
              น้ำท่วมเมืองเพชรบุรี จึงไม่ใช่ปัญหาหมูๆตรงข้าม เป็นปัญหาหมูเขี้ยวตันที่พร้อมแผลงฤทธิ์ได้ตลอดเวลา หากชาวบ้านไม่เล่นด้วย

 

น้ำท่วมเพชร1

 

น้ำท่วมเพชร2

 

น้ำท่วมเพชร3

 

ติดต่อเรา

อีเมล์ : water4life2017@gmail.com

โทรศัพท์ : 09 8269 1197 08 6888 1918

ที่อยู่ : 299/3  หมู่บ้านเบล็ส วิลล์ รามอินทรา ซอยพระยาสุเรนทร์ 25 แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ 10510

©2024 Copyright, Thaiagritec. All rights reserved.