ลุ่มน้ำคลองท่าลาด อาศัยน้ำจากอ่างเก็บน้ำระบม และอ่างเก็บน้ำสียัด คล้ายรูปตัว Y นอนตะแคง ทิศทางน้ำไหลจากขวาไปซ้าย
แขนรูปตัว Y 2 ข้าง ด้านบนเป็นอ่างฯระบม ด้านล่าง เป็นอ่างฯสียัด หางที่ลากไปทางซ้าย เป็นคลองท่าลาด ไหลไปออกแม่น้ำบางปะกง
อ่างฯระบม ความจุ 55 ล้านลบ.ม. น้อยกว่าปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 75-85 ล้านลบ.ม. จึงมีน้ำส่วนเกินทะลักลงคลองท่าลาด 20-30 ล้านลบ.ม.ไปลงแม่น้ำบางปะกง
ส่วนอ่างฯสียัด ออกแบบให้มีความจุ 420 ล้านลบ.ม.ในขณะปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยปีละ 200 กว่าล้านลบ.ม. ดังนั้น โอกาสน้ำเต็มอ่างจึงมีน้อย แต่พื้นที่ลุ่มน้ำท่าลาดก็อาศัยน้ำจากแหล่งนี้เป็นสำคัญ
แม้ปริมาณน้ำมากพอสมควร แต่การขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูก นาข้าว บ่อปลา บ่อกุ้ง โรงงานอุตสาหกรรมและแหล่งที่อยู่อาศัยตามโครงการอีอีซี ที่ว่ามาก กลับเป็นน้อย ที่ว่าพอ กลับเป็นขาด ที่ว่าขาด กลับจะเดือดร้อน
นายธเนศ ปลื้มคิด ผู้อำนวยการโครงการชลประทานฉะเชิงเทรา บอกว่า มีอยู่ 3 แนวทางในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในพื้นที่
ทางแรก การผันน้ำส่วนเกิน 20-30 ล้านลบ.ม./ปี จากอ่างฯระบมไปยังอ่างฯสียัดที่ยังมีพื้นที่อ่างว่างอีกมาก โดยเริ่มศึกษาโครงการในปี 2561
ทางที่สอง ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 3 อ่างในพื้นที่ระหว่างอ่างฯระบมกับอ่างฯสียัด ซึ่งกรมชลประทานเคยมีแผนจะก่อสร้าง แต่มีปัญหาราคาที่ดินสูง จึงชะลอโครงการมาตลอด ในขณะที่มีปัญหาในพื้นที่ชุมชนเพราะน้ำท่วมฤดูน้ำหลาก
ทางที่สาม ผันน้ำจากท้ายอ่างฯระบมและอ่างฯสียัดขึ้นไปเก็บไว้ในอ่างฯสียัด เพราะสภาพทิศทางการตกของฝนแปรเปลี่ยน จากที่เคยตกเหนือเขื่อนมาเป็นตกท้ายเขื่อนตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยจัดหาพื้นที่แก้มลิงไว้คอยเก็บน้ำ แล้วสูบขึ้นไปเติมอ่างฯ สียัดอีกที
เป็นความโชคดีของลุ่มน้ำท่าลาดที่มีทางเลือกมากถึง 3 ทาง และมีความแข็งแรงของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นฐานสนับสนุน
อีเมล์ : water4life2017@gmail.com
โทรศัพท์ : 09 8269 1197 08 6888 1918
ที่อยู่ : 299/3 หมู่บ้านเบล็ส วิลล์ รามอินทรา ซอยพระยาสุเรนทร์ 25 แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ 10510
©2024 Copyright, Thaiagritec. All rights reserved.