menu
chevron_right
น้ำคือชีวิต
กรมชลเดินหน้าปตร.ลำน้ำชีตั้งเป้าแก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วมอย่างยั่งยืน

กรมชลฯ ประชุมปัจฉิมนิเทศเดินหน้า 3 โครงการเร่งด่วน ปตร.ลำน้ำชี “บ้านโนนเขวา-บ้านท่าสวรรค์-บ้านท่าสองคอน” หวังเป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำ เพิ่มน้ำต้นทุนกว่า 57 ล้าน ลบ.ม. แก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วมอย่างยั่งยืน   

S__29909015

ที่ห้องประชุม อบต.ท่านางแนว อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น มอบหมายให้นายสุริยงค์ พลน้ำเที่ยง ปลัดอำเภอ รักษาการแทนนายอำเภอแวงน้อย เป็นประธานเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาคารบังคับน้ำในลำน้ำชี เพื่อติดตามผลการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาคารบังคับน้ำในลำน้ำชี พร้อมทั้งเสนอ 3 โครงการเร่งด่วน ซึ่งประกอบด้วย ปตร.บ้านโนนเขวา ปตร.บ้านท่าสวรรค์ ปตร.บ้านท่าสองคอน สามารถเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับลำน้ำชี กว่า 57 ล้าน ลบ.ม. เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ และแก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วมอย่างยั่งยืน โดยมีผู้แทนจากกรมชลประทาน หัวหน้าส่วนราชการ สถานศึกษา ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน กลุ่มผู้ใช้น้ำ และประชาชนเข้าร่วมประชุมปัจฉิมนิเทศฯ ในครั้งนึ้ด้วย

S__29909016

นายสุริยงค์ พลน้ำเที่ยง ปลัดอำเภอ รักษาการแทนนายอำเภอแวงน้อย กล่าวว่า ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ในช่วงฤดูฝนน้ำท่วมมาก เนื่องจากตลอดลำน้ำชีไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ จึงทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ซึ่งกรมชลประทานได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน จึงได้วางแผนจัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น มีแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการอุบโภคบริโภค และทำการเกษตรตลอดทั้งปี และหวังว่าโครงการดังกล่าวจะสำเร็จตามเป้าหมายทุกประการ
​          701726
ด้านนายเกื้อศักดิ์ ทาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา (วางแผน) กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้มีการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำชีมาตลอด ซึ่งมีแหล่งน้ำที่สำคัญ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำปะทาว เขื่อนลำคันฉู รวมกับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ 5,068 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 45 ของปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี ปัจจุบันกรมชลประทานยังมีแผนพัฒนาจัดหาแหล่งกักเก็บน้ำที่สำคัญ เช่น อ่างเก็บน้ำลำเจียง อ่างเก็บน้ำลำสะพุง อ่างเก็บน้ำลำชี เป็นต้น ซึ่งคาดว่าสามารถมีน้ำกักเก็บเพิ่มได้อีกประมาณ 200 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนั้น กรมชลประทานได้มีนโยบายที่จะหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม โดยใช้ลำน้ำชีเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ จึงเป็นที่มาของโครงการที่กำลังดำเนินการศึกษาฯ อยู่ในขณะนี้
​          LINE_ALBUM_ปตร.บ้านโนนเขวา_241118_2
ซึ่งจากการศึกษาแผนหลักการพัฒนาประตูระบายน้ำในลำน้ำชี พบว่าโครงการประเภทอาคารบังคับน้ำและประตูระบายน้ำเฉพาะที่ตั้งอยู่ลำน้ำชีมีทั้งหมด จำนวน 10 โครงการ โดยผลการคัดเลือกแผนงานโครงการที่มีศักยภาพ และประชาชนในพื้นที่มีความต้องการเร่งด่วนจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการประตูระบายน้ำบ้านโนนเขวา (2) โครงการประตูระบายน้ำบ้านท่าสวรรค์ และ (3) โครงการประตูระบายน้ำบ้านท่าสองคอน จึงได้นำโครงการดังกล่าวไปดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนดำเนินงานในขั้นต่อไป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนธันวาคม 2567 นี้

สำหรับการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันนี้จะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย เพื่อนำผลศึกษามานำเสนอแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โครงการมีความสมบูรณ์มากที่สุด และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากที่สุด ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2571 ทั้ง 3 โครงการจะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 5,000 กว่าล้านบาท ซึ่งมีความเหมาะสมและคุ้มค่ากับการลงทุนอย่างแน่นอน เชื่อว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร เป็นการเพิ่มรายได้และสร้างความมั่นคงในอาชีพมากยิ่งขึ้น

701048

“ที่สำคัญเราต้องใช้น้ำอย่างประหยัด รวมถึงการปลูกพืชที่มีมูลค่าทางการตลาด เพื่อจะได้คุ้มค่ากับการใช้น้ำ โดยกรมชลฯ จะส่งเสริมการปลูกพืชต่างๆ และจะมีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ รวมถึงการดูแลคุณภาพน้ำ เมื่อโครงการนี้สำเร็จ เกษตรกรก็สามารถใช้น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ” นายเกื้อศักดิ์ กล่าว

สำหรับโครงการประตูระบายน้ำบ้านโนนเขวา ตั้งอยู่ในเขตบ้านโนนเขวา ต.ท่านางแนว อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำในช่องลัดของแม่น้ำชี ชนิดอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กควบคุมด้วยบานระบายเหล็กโค้ง มีขนาดบานประตูความกว้างช่องละ 12.50 ม. สูง 8 ม. จำนวน 5 บาน มีอัตราการระบายน้ำสูงสุด 2,273 ลบ.ม./วินาที มีระดับกักเก็บ +167 ม. (รทก.) สามารถกักเก็บน้ำได้ 6.04 ล้าน ลบ.ม. พร้อมทำนบดินชนิดดินถมแกนดินเหนียว เพื่อปิดกั้นลำน้ำเดิมและอาคารทางผ่านปลาชนิดไอซ์ฮาร์เบอร์ (Ice Harbor) มีพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการ ประกอบด้วย พื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ 21,260 ไร่ และสนับสนุนพื้นที่สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเดิมตามลำน้ำชี จำนวน 5 สถานี พื้นที่ชลประทาน 16,550 ไร่ ครอบคลุม 3 อำเภอ 3 จังหวัด ประกอบด้วย อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น, อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ และอ.แก้งสนามนาง จ.นครราชสีมา

356697

สำหรับโครงการประตูระบายน้ำบ้านท่าสวรรค์ ตั้งอยู่ในเขตบ้านท่าสวรรค์ ต.ท่าศาลา อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำในช่องลัดของแม่น้ำชี ชนิดอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กควบคุมด้วยบานระบายเหล็กโค้ง มีขนาดบานประตูความกว้างช่องละ 12.50 ม. สูง 11.50 ม. จำนวน 5 บาน มีอัตราการระบายน้ำสูงสุด 2,520 ลบ.ม./วินาที มีระดับกักเก็บ +156 ม. (รทก.) สามารถกักเก็บน้ำได้ 19.19 ล้าน ลบ.ม. พร้อมทำนบดินชนิดดินถมแกนดินเหนียว เพื่อปิดกั้นลำน้ำเดิมและอาคารทางผ่านปลาชนิดไอซ์ฮาร์เบอร์ (Ice Harbor) มีพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการ ประกอบด้วย พื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ 13,035 ไร่ และสนับสนุนพื้นที่สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเดิมตามลำน้ำชี จำนวน 19 สถานี พื้นที่ชลประทาน 24,500 ไร่ ครอบคลุม 5 อำเภอของ จ.ขอนแก่น ประกอบด้วย อ.ชนบท อ.บ้านไผ่ อ.บ้านแฮด อ.มัญจาคีรี และอ.พระยืน

สำหรับโครงการประตูระบายน้ำบ้านท่าสองคอน ตั้งอยู่ในเขตบ้านท่าสองคอน ต.ท่าสองคอน อ.เมือง จ.มหาสารคาม เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำในช่องลัดของแม่น้ำชี ชนิดอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กควบคุมด้วยบานระบายเหล็กโค้ง มีขนาดบานประตูความกว้างช่องละ 12.50 ม. สูง 9.50 ม. จำนวน 6 บาน มีอัตราการระบายน้ำสูงสุด 2,864 ลบ.ม./วินาที มีระดับกักเก็บ +143 ม. (รทก.) สามารถกักเก็บน้ำได้ 32.46 ล้าน ลบ.ม. พร้อมทำนบดินชนิดดินถมแกนดินเหนียวเพื่อปิดกั้นลำน้ำเดิมและอาคารทางผ่านปลาชนิดไอซ์ฮาร์เบอร์ (Ice Harbor) พื้นที่รับประโยชน์จากโครงการ ประกอบด้วย พื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ 18,275 ไร่ และสนับสนุนพื้นที่สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเดิมตามลำน้ำชี จำนวน 30 สถานี พื้นที่ชลประทาน 40,400 ไร่ ครอบคลุม 3 อำเภอ ของ จ.มหาสารคาม ประกอบด้วย อ.เมืองมหาสารคาม อ.โกสุมพิสัย และอ.กันทรวิชัย

S__29909011

ขณะที่นายทองปักษ์ มาพงษ์ นายก อบต.ละหานนา กล่าวว่า เนื่องจากลำน้ำชีไม่มีประตูระบายน้ำหรือแหล่งกักเก็บน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อยไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร จึงไม่สามารถปลูกพืชนอกฤดูกาลได้ ดังนั้น เกษตรกรจึงมีความต้องการน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น ก่อนหน้านั้นเคยร้องขอมาหลายปีแล้ว ที่ผ่านมามีคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเพื่อแจกจ่ายน้ำให้แก่เกษตรกรในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว ถ้าหากโครงการนี้เสร็จสิ้น จะมีแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้เหมือนกับบึงละหานนา มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ครอบคลุม 9,000 ไร่ ดังนั้น ถ้ามีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น เกษตรกรจะมีน้ำใช้ทำการเกษตรตลอดทั้งปี โดยจะปลูกข้าวเป็นหลัก และสามารถปลูกพืชอายุสั้นหลังฤดูเก็บเกี่ยวได้อีก เช่น ข้าวโพด แคนตาลูป เป็นต้น นอกจากนี้ จะต้องมีการรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อบริหารจัดการน้ำให้แก่เกษตรกรอย่างทั่วถึง และใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

S__29884481

นอกจากนี้ นายอธิพงษ์ บุญเพลิง กำนันตำบลท่านางแนว กล่าวว่า ในฤดูน้ำหลากประสบปัญหาน้ำท่วม พอถึงช่วงฤดูแล้งน้ำจะแล้งมาก ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ ซึ่งปีนี้น้ำไม่ท่วม เพราะสามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำชีได้ ข้าวได้ผลผลิตดี แต่ปัญหาความต้องการชองชาวบ้านคือ การก่อสร้างสถานีสูบน้ำ แก้มลิง รวมถึงประตูระบายน้ำ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้ทั้ง 3 อำเภอ และขยายผลต่อยอดไปถึงอำเภอพลและอำเภอหนองสองห้อง เกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากการใช้น้ำเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้น เช่น ปลูกข้าว อ้อย มันสำปะหลัง รวมถึงการผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้นด้วย


“โครงการนี้ผ่านการประชาคมเรียบร้อยแล้ว ซึ่งชาวบ้านเห็นด้วย ถ้าหากโครงการนี้เสร็จสิ้น ก็จะมีน้ำใช้สมบูรณ์ จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ทำให้การบริหารจัดการน้ำง่ายขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่ใช้น้ำน้อยหรือพืชอายุสั้น สามารถปลูกพืชชนิดอื่นเสริมด้วย เช่น มันม่วง สมุนไพร ข่า ตะไคร้ เพราะว่าประเทศไทยมีความโดดเด่นด้านสมุนไพร ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขี้น” กำนันตำบลท่านางแนว กล่าว

S__29908999

ส่วนนายบุญโฮม ปราบณศักดิ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ต.ท่านางแนว อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ในช่วงฤดูแล้งบางปีจะแห้งแล้งมาก ส่วนในฤดูฝนจะเกิดปัญหาน้ำท่วมน้ำหลากมาจากลำน้ำชีตอนบน โครงการนี้เป็นความหวังของชาวบ้าน ถ้าโครงการนี้เสร็จสิ้นก็จะมีประตูระบายน้ำ ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม มีแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น ประชาชนจะได้รับประโยชน์ มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตร ถ้ามีน้ำเพิ่มขึ้นก็จะเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เช่น ทำประมง ปลูกพืชไร่ พืชสวน และจัดทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน

ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการตามแผนงานเร่งด่วน 3 โครงการแล้วเสร็จ จะทำให้ลำน้ำชีสามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นอีก 57.69 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเดิม 54 สถานี รวมพื้นที่ 81,450 ไร่ เพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่กว่า 52,570 ไร่ รวมพื้นที่ชลประทาน 134,020 ไร่ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับอุปโภคบริโภค การประมง และการปศุสัตว์ สนับสนุนประเพณีท้องถิ่น การท่องเที่ยว รวมถึงกิจกรรมการใช้น้ำด้านอื่นๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นต่อไปในอนาคต

 

ติดต่อเรา

อีเมล์ : water4life2017@gmail.com

โทรศัพท์ : 09 8269 1197 08 6888 1918

ที่อยู่ : 299/3  หมู่บ้านเบล็ส วิลล์ รามอินทรา ซอยพระยาสุเรนทร์ 25 แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ 10510

©2024 Copyright, Thaiagritec. All rights reserved.